“วีริศ” เผยยอดขาย/เช่าที่ดินพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปี 65 ทะลุเป้ากว่า 2,000 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1% เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า หลังมีการเปิดประเทศ แย้มต่างชาติสนใจติดต่อขอเข้าชมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เล็งขยับเป้าขาย/เช่าที่ดินปีหน้าเพิ่มขึ้นอีก
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2565 (กันยายน 2564 – ตุลาคม 2565) กนอ.มียอดขาย/เช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 2,016.24 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 65.1% เป็นไปตามที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า โดย กนอ.ได้ปรับเป้ายอดขาย/เช่าที่ดินในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา ภายหลังการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ ส่งผลให้มีนักลงทุนต่างชาติเดินทางเข้ามาชมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากความเชื่อมั่นในโครงการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานหลักในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีความก้าวหน้าการก่อสร้างและส่งมอบพื้นที่โครงการต่อเนื่องชัดเจน รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนตัดสินใจจอง/ซื้อ/เช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน และนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง โดยยอดการขาย/เช่านิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี มีจำนวน 1,716.99 ไร่ และนอกพื้นที่อีอีซี จำนวน 299.25 ไร่ มีการแจ้งเริ่มประกอบกิจการ และใบขออนุญาตส่วนขยาย 407 ราย เกิดการจ้างงาน 39,643 คน มูลค่าการลงทุนรวม 137,677.75 ล้านบาท
“ปัจจุบันการลงทุนจากต่างชาติเริ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี ที่คาดว่าเป็นผลจากโครงการ LTR Visa ที่เปิดใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ดึงนักลงทุนต่างชาติมีศักยภาพสูงด้านทักษะและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีสมัยใหม่และผู้มีความมั่งคั่งเข้ามาลงทุนใน 12 อุตสาหกรรมกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลกำลังผลักดัน กนอ.เองก็ได้คาดการณ์ไว้เช่นกันว่า ปีนี้จะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากยอดขาย/เช่าที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 65.1% ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากหลายปัจจัยแล้ว ทำให้ในปี 2566 กนอ.ตั้งเป้ายอดขาย/เช่าพื้นที่ไว้ที่ 2,500 ไร่ โดยคาดการณ์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและปัจจัยบวกจากทิศทางการเคลื่อนย้ายการลงทุนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ การแพร่ระบาดของ covid-19 การเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย และล่าสุดการปฏิรูปการเมืองในประเทศจีน ทำให้หลายอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่จัดระบบการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งไทยมีความได้เปรียบหลายส่วน ส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่ระดับโลกหลายบริษัทเล็งที่จะเข้ามาลงทุนในไทย”
ทั้งนี้ปัจจุบัน กนอ.มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 182,273 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง ประมาณ 37,724 ไร่ และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ประมาณ 144,549 ไร่ มีพื้นที่ขายและให้เช่า ประมาณ 119,307 ไร่ เป็นพื้นที่ขาย/ให้เช่าแล้ว ประมาณ 94,043 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือสำหรับขาย/ให้เช่าอีกประมาณ 25,264 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนสะสม ประมาณ 5.59 ล้านล้านบาท มีโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 4,864 โรง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้น ประมาณ 926,262 คน โดยกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.กิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม 22.6 % 2.อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 11.06 % 3.อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 9.33 % 4.อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 8.85 % และ 5.อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 8.36 % ทั้งนี้ นักลงทุนจากญี่ปุ่นครองแชมป์สนใจลงทุนมากเป็นอันดับหนึ่งถึง 31.25 % รองลงมา คือ นักลงทุนจากจีน 18.75 และนักลงทุนจากอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และมาเลเซีย 6.25% ตามลำดับ
ขณะที่ภาพรวมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 67 แห่ง และท่าเรืออุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน 16 จังหวัด เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน 52 แห่ง